ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ด้วยระลึกถึงคุณย่า บันทึกจากความทรงจำ

บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อบันทึกความทรงจำของผมที่มีต่อคุณย่าที่ล่วงลับไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนคืน คุณย่าเปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ร้อยครอบครัวใหญ่ของเราเอาไว้ไม่ให้แตกแยก หลังจากที่เสียคุณปู่ไปเมื่อ 23 ปีก่อน
เนื่องจากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก แต่มักจะเป็นชาวจีนที่อพยพมาไทยนานแล้ว จากการการสังเกตของผม ชาวจีนแถบนี้โดยมากน่าจะเป็นชาวเปอรานากัน หรือชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมลายูหรืออินโดนีเซีย แล้วหลังจากนั้นจึงอพยพมาอาศัยต่อที่ประเทศไทย จากการบอกเล่าของคุณแม่ ก๋งเคยเล่าให้ฟังว่าตอนยังเด็กเคยแจวเรือจ้างอยู่ที่ปีนัง คุณย่าเคยเล่าว่าเป็นชาวฮกเกี้ยน อีกทั้วจากรูปวาดคุณย่าทวดที่มีการเกล้ามวยผม สวมเสื้อคอลึก ส่วนทางบ้านมีการใช้คำเรียกจีนผสมไทยถิ่นใต้อยู่มาก ผู้หญิงทุกคนนิยมสวมผ้าปาเต๊ะ เสื้อลูกไม้ (เสื้อฉลุลายดอกไม้) อาหารการกินเป็นแบบชาวไทยถิ่นใต้ทุกประการ (กินน้ำพริก แกงส้มเก่งกันทุกคน ยกเว้นก๋ง :D) อีกทั้งก๋งเกิดที่ดินแดนแถบนี้ไม่ได้เดินทางมาจากเมืองจีน (บางทีเรียก เตี่ยต่อเตี่ย คือ ทวดมาจากจีน ส่วนสถานที่เกิดไม่แน่ใจว่าเป็นปีนังหรือไทย) มีศาลเจ้า แต่นิยมไปวัดเถราวาท จากสภาพการแล้วผมจึงสันนิษฐานออกมาเป็นเช่นนั้น

ลำดับญาติ

เนื่องจากทางบ้านมีคำเรียกขานในหมู่ญาติๆ ที่ผิดแผกออกจากคำเรียกลำดับญาติในหมู่ชาวจีนที่คุ้นเคย โดยเป็นคำเรียกแบบจีนสำเนียงไทยถิ่นใต้ โดยมากน่าจะเป็นภาษาฮกเกี้ยน (ภาษาไทยบ้าบ๋าภูเก็ต) หรือเป็นคำไทยถิ่นใต้ในแถบนี้ก็ยังไม่แน่ใจนัก จึงอยากบันทึกไว้สักเล็กน้อย เนื่องคนที่เกิดในรุ่นหลังๆ จะไม่เรียกแบบนี้กันแล้ว นิยมเรียกเป็น พี่ ป้า น้า อา แทน

ฝั่งพ่อ
  • ปู่ เรียก ก้อง
  • ย่า เรียก ละหมา
  • พ่อ เรียก เตี่ย รุ่นหลังนิยมเรียก ป๋า หรือ ปาป๊า แทน
  • แม่ เรียก แม่ หรือ มะ (น่าจะเป็นไทยมุสลิม) อาจจะมีคำเรียกอื่นที่เป็นคำจีนกว่านี้แต่ไม่เคยได้ยิน
  • ลุง เรียก แปะ
  • ภรรยาลุง เรียก ฮุม
  • อา เรียก เจ็ก เช็ค
  • ภรรยาอา เรียก ฉิ๋ม จิ๋ม แล้วแต่บ้าน
  • ป้า หรือ อาหญิง เรียก ก้อ
  • สามีป้า เรียก ติ่ว ทิ่ว หรือ ก้อทิ่ว
  • พี่ชาย เรียก โก้ โข ตามด้วยชื่อ
  • พี่สาว เรียก จี ฉี ฉา ตามด้วยชื่อ
  • พี่สะใภ้ เรียก โส 
ฝั่งแม่
  • ตา เรียก ก้อง
  • ยาย เรียก ยาย
  • น้าชาย เรียก กู่ หรือ คู้ 
  • น้าสะใภ้ เรียก คิ้ม กิ่ม
  • น้าหญิง ป้าหญิง เรียก อี๋
นอกจากนี้อาจจะมีชื่อเรียกอีกแต่ผมไม่ค่อยได้เรียก เลยบันทึกไว้แค่นี้ก่อน นอกจากนี้ยังมีข้นสูงขึ้น เช่น
  • ทวดชาย เรียก ก้องจ้อ ก้องโฉ
  • ทวดหญิง เรียก เล่าจ้อ เล่าโฉ
  • ฝ่ายชายที่มีลำดับเดียวกับก๋ง จะเรียกตาม พ่อแล้วลงท้ายด้วยก้อง เช่น น้องชายก๋ง เรียก เจ็กก้อง พี่ชายก๋ง เรียก แปะก้อง แต่โดยมาก ก้อง แล้วตามด้วยชื่อแทน
  • ฝ่ายหญิงที่มีลำดับเดียวกับก๋ง จะเรียกตาม พ่อแล้วลงท้ายด้วยโป๋ เช่น พี่สาวก๋ง จะเรียกว่า ก้อโป๋ พี่สะใภ้ก๋ง จะเรียก ฮุมโป๋ น้องสะใภ้ก๋ง จะเรียก ฉิมโป๋
อาจมีคำเรียกเป็นลำดับเหมือนภาษาจีนทั่วไป เช่น ตั๋ว ยี่ ซา นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่นที่ไม่อยู่ในลำดับญาติที่ผมเรียกบ่อยๆ อาจจะเป็นคำภาษาถิ่นใต้ก็ได้ อันนี้ยังไม่แน่ใจ
  • ผู้ชายที่มีรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อหรือแม่ เรียก แด้
  • ผู้หญิงที่มีรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อหรือแม่ เรียก โบ๋ว
คำพูดของคนแถบนี้ปนไปมาระหว่างไทยจีน มีการสืบทอบแบบรุ่นต่อรุ่น หากขาดรุ่นไปก็เรียกไม่ถูก วัฒนธรรมก็ผสมผสานกัน จนอาจเห็นคนไทยไปเชงเม้ง คนจีนทำบุญเดือนสิบเป็นเรื่องปรกติ

นามสกุล

ส่วนเรื่องนามสกุลนั้น คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ตอนก๋งไปแจ้งนามสกุลกับนายอำเภอ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ว่าอะไร เนื่องจากเป็นคนจีนจึงใช้แซ่ โดยมีชื่อแซ่ว่า แซ่ลิ่ม แต่การจะใช้แซ่ในไทยนั้นก็อาจจะไม่สะดวกกับการติดต่อราชการ เลยเปลี่ยนเป็นนามสกุลไทยเสีย นายอำเภอเลยถามว่าที่บ้านประกอบอาชีพอะไร ก๋งบอกว่า ทำนา เลยเป็นที่มาของนามสุกล ลิ่มนา (นายอำเภอตั้งให้) การตั้งชื่อนามสกุลในสมัยนั้นคงเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวของนายอำเภอยุคนั้นไม่มากก็น้อย :D นามสกุลลักษณะนี้จึงมีแยะในแถบนี้เช่น ลูกหลี ลูกเหล็ม ลิ่มซิ่ว ยาเขียว ค้าของ คิดรอบ เป็นต้น ส่วนนามสกุลที่เป็นญาติๆ กันกับนามสกุลลิ่มนา จากคำบอกเล่า ก็เช่น ลิ่มซิ่ว คิดรอบ ลูกหลี (แซ่ลิ่ม แซ่หลี) ส่วนจะญาติกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นก็ยากที่จะรู้ได้เพราะคนที่รู้เรื่อง ตอนนี้ก็มีอายุมากจนจำไม่ได้ หรือล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว จะรู้ว่าเป็นญาติก็จากคำบอกเล่าเท่านั้น

ไว้ทุกข์

คุณย่าของผม ท่านมีวาสนาแม้ตอนที่จากไป ท่านยังไปในวัยอันควร คืออยู่ในวัยสูงอายุ เวลาอันควรคือท่านได้ล้มป่วยให้ลูกหลานปรนนิบัติเลี้ยงดูอยู่ระยะหนึ่ง เหมือนให้ทำใจไว้ก่อน กาลอันควรคือท่านจากไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลเชงเม้ง ทำให้คนสนิทมิตรรักที่อยู่ต่างแดน กลับมาไหว้หลุมศพบรรพบุรุษได้มาร่วมงานศพคุณย่าด้วย อาการอันควรคือท่านเหมือนหลับไปอย่างสงบ ไม่มีแม้แต่คำบอกลา เหมือนท่านไม่ห่วงอะไรแล้ว การจัดการศพท่านก็ได้เตรียมตัวไว้นานแล้ว ตั้งแต่ซื้อโลงหัวหมู (โลงจีน) ท่านได้สั่งไว้ว่าอย่าเผากลัวร้อน :D แต่ผมเข้าใจว่าท่านอยากไปอยู่ข้างๆ ก๋งมากว่าจึงได้สั่งไว้อย่างนั้น เตรียมรูปถ่ายตั้งหน้าศพไว้อย่างเรียบร้อย ไม่ต้องลำบากลูกหลาน โชคดีอย่างหนึ่งของผม คือผมกลับบ้านทันก่อนที่ญาติจะตอกฝาโลง ผมจึงได้เห็นหน้าคุณย่าครั้งสุดท้าย
ถ้ายังไม่จัดดอกไม้ก็จะมีผ้าห่มโลง โลงแบบนี้เรียกโลงหัวหมู
การจัดการศพผมเคยบันทึกไว้แล้วครั้งนึงตอนงานศพคุณอา บันทึกการจัดงานศพ: พิธีทั่วไป และ  บันทึกการจัดงานศพ: พิธีฌาปนกิจศพ ครั้งที่แล้วเป็นพิธีจีนแบบไทย คือใส่โลงเผา แต่คราวนี้นี้จะเป็นพีธีจีนลดรูป เนื่องจากใส่โลงหัวหมูนั้นเอง ส่วนอะไรที่บันทึกไปแล้วก็จะไม่ขอเขียนอีก
ตอนที่ผมไปถึงบ้าน ร่างคุณย่าได้ถูกบรรจุไว้ในโลงเรียบร้อยแล้ว คุณย่านอนโดยมีผ้าห่มห่มร่างและมีเสื้อผ้าอีกชุดนึงอยู่ในโลงด้วย ในกระเป๋าคุณย่ามีเงินที่ลูกๆ หลานๆ ใส่ให้ ทั้งเหรียญ ทั้งแบงค์ตามสมควร มีการประพรมน้ำหอมและทาแป้งให้คุณย่าเป็นครั้งสุดท้าย ร่างคุณย่าห่อหุ้มด้วยผ้ายางอีกทีนึงกันน้ำเหลืองไหล เนื่องจากคุณย่าไม่ได้นอนห้องแอร์นั้นเอง โลงจะต้องยาด้วยชันอย่างดีด้วยเช่นกัน คุณลุงเป็นคนยาชันโลงเอง หลังจากนั้นจะตอกตะปู โดยที่การตอกตะปูจะต้องรองด้วย กระดาษเงินกระดาษทองก่อนเสมอ บรรจุร่างคุณย่าเสร็จก็มีพิธีพระโดยทั่วไปปรกติ 
เนื่องจากครั้งนี้การบรรจุร่างคุณย่าในโลงจีนจึงต้องมีเครื่องไว้ทุกข์ ก็คือผ้าติดแขน โดยแต่ละคนจะใช้สีต่างกัน จริงๆ แล้วลูกชายจะต้องเป็นปลอกแขน แต่ในงานนี้ได้ลดรูปเป็นแค่ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมแทน
ติดแขนไว้ทุกข์
  • ผ้าดิบหุ้มผ้ากระสอบ (ที่บ้านเรียกผ้าสิหริง) ใช้กับ ลูกชายทั้งหมด ลูกสะใภ้ ลูกสาวที่ยังไม่แต่งงาน หลานชายที่เกิดจากลูกชาย (เรียกหลานใน) หลานสาวที่เกิดจากลูกชายและยังไม่แต่งงาน
  • ผ้าดิบ ใช้กับ ลูกสาวที่แต่งงานแล้ว
  • ผ้าขาว ผ้าแดง ใช้กับ ลูกเขย
  • ผ้าขาว ผ้าดำ ใช้กับ หลานที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะหลานที่เกิดจากลูก หรือหลานที่เกิดจากพี่น้องอื่นๆ รวมถึง พี่ๆ น้องๆ
  • ผ้าขาว ผ้าน้ำเงิน ใช้กับ เหลน ยกเว้นเหลนที่เกิดจากหลายชาย จะใช้ขาวดำแทน
การติดเข็มกลัดจะกลัดข้างขวาถ้าผู้ตายเป็นผู้หญิง และมีได้แดงหากพ่อหรือแม่ของผู้ไว้ทุกข์ยังไม่เสียชีวิต การติดลักษณะนี้อาจเป็นเพราะว่า สมัยก่อนไม่มีรูปถ่าย คนที่มาร่วมงานก็จะรู้ทั้นทีว่าใครเป็นใคร ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงหรือชาย จะต้องเรียกว่าอะไรก็ดูได้จากแขนเสื้อนั่นเอง ส่วนงานนี้ลูกหลานจะใส่เสื้อเป็นผ้าดิบตลอดงาน และจนกว่าจะครบร้อยวัน งานนี้ทำให้ผมรู้ว่าผมมีญาติเยอะจริงๆ เข็มกลัด 5 พวง พวกละ 10 อันยังไม่พอ แต่ผมรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ออกไปทางไม่รู้จักเสียมากกว่า :D
นอกจากเครื่องไว้ทุกข์แล้วคนตายมีอายุมากกว่าจะใส่ผ้าดิบ ไม่ตัดผม ไม่ตัดเล็บ ไม่โกนหนวด ไม่โกนเครา ไม่แต่งหน้า ไม่หวีผม ไม่ประพรมของหอม เสื้อผ้าไม่รีด และอื่นๆ อีกมากมาย น่าจะเป็นเพราะว่าเมื่อมีงานศพจะมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำอีกมากมาย การละกิจกรรมเหล่านี้ไว้ยกเป็นข้อห้ามจะทำให้ไม่ขัดเขินเวลาต้อนรับแขกนั้นเอง แต่ปีนี้ก็ 2556 เข้าไปแล้ว บางอย่างเลยละไว้ เช่น การรีดผ้า เป็นต้น ส่วนเสื้อผ้าจะต้องดำสนิท หรือขาวเท่านั้น ไม่เว้นแต่ชุดชั้นใน ผ้าข้าวม้า ผ้าถุงอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัวก็ต้องเป็นขาว หรือดำ เทาๆ บ้างไม่เป็นไร ในวันแรกที่คุณย่าเสีย ออกจะโกลาหลพอสมควร ก็เรื่องชุดชั้นในนี่แหละ :D
ระหว่างงานศพจะมีการไหว้ศพย่อย คือ 3 วัน และ 7 วัน (เรียกว่าใส่ 3 ใส่ 7) โดยจัด ไก่หนึ่งตัว หมูสามชั้น ไข่เป็ด ไข่ไก่ หมีเหลืองผัด อาหารตามคุณย่าชอบ นอกจากนี้มีการถวายสังฆทานตามเวลาอำนวย ปรกติแล้วที่บ้านจะไว้ศพไม่นาน แต่งานคุณย่าไว้ศพเก้าวัน เนื่องจากติดเทศกาลเชงเม้งนั่นเอง การฝั่งศพในวันดังกล่าวอาจไม่สะดวก (ได้ยินว่างานศพก๋งไว้ 12 วัน เนื่องจากติดเทศกาลตรุษจีน) ตลอดงานหากมีการทำบุญเจ้าภาพจะมีของชำรวยเล็กๆ น้อยๆ (ทุกชิ้นจะมีด้ายแดงติดอยู่ด้วยถือว่าเป็นอั่งเปา) และบัตรขอบคุณ (บัตรบอกรายละเอียดผู้ตายเล็กๆ น้อย เช่น อายุ เสียชีวิตเมื่อไหร่ กำหนดสวดพระอภิธรรม กำหนดวันฌาปนกิจศพ ที่่สำคัญคือคำขอบคุณ และมีด้ายแดงติดอยู่ด้วย) ตอบแทนนอกเหนือจากการเลี้ยงอาหาร อาหารว่าง ชา กาแฟ แล้ว

เคลื่อนศพ

ก่อนเคลื่อนศพโดยปรกติแล้วชาวจีนจะไหว้ครั้งสุดท้าย เป็นการไหว้ชุดใหญ่ ครั้งนี้จะไหว้เครื่องคู่ ทุกอย่างจะจัดเป็นคู่ๆ ยกเว้นข้าวห้าถ้วย เหล้าห้าจอก ชาสามจอก สิ่งที่ขาดไม่ได้ไม่ว่าจะครั้งใหนคือ หมี่เหลืองผัด และหมู่ย่าง ถึงแม้ว่ากระบี่จะไม่ใช่เมืองหมูย่างแต่ก็ใช้หมูย่างเป็นเครื่องเซ่นเป็นประจำ :D ถึงเวลาไหว้ ลูกหลานก็จะไหว้แยกออกเป็นคณะๆ เมื่อไหว้เสร็จจะต้องไปนั่งข้างโลงจนกว่าจะจบพิธี
เครื่องเซ่นไหว้
  • ลูกๆ ทั้งหมด รวมลูกสะใภ้ ไม่รวมเขย
  • เขย
  • หลานทั้งหมด จริงๆ แล้วจะต้องแยกเหลน ออก แต่เนื่องจากว่า เด็กๆ ยังเล็กเลยไหว้พร้อมกันเสียเลย
  • หลานเขย
  • ญาติฝั่งคุณปู่
  • ญาติฝั่งคุณย่า
  • คนสนิท มิตรรัก
เห็นจากเข็มกลัดที่ติดแขนไว้ทุกข์ว่าเยอะแล้ว เห็นตอนไหว้ศพญาติฝั่งปู่ฝั่งย่ามีเยอะกว่านั้นอีกมาก !!_ _
ตามประเพณีการเคลื่อนศพออกจากบ้านไปสุสานจะใช้วิธีหามลูกหลานที่เดินตามจะต้องไม่สวมรองเท้า ใส่ผ้าดิบเต็มชุด หลานนอกใส่ครึ่งท่อนคือเสื้อเป็นผ้าดิบผ้าถุงดำหรือกางเกงดำตามสมควร แต่เนื่องจากงานคุณย่าเป็นช่วงหน้าร้อนอีกทั้งลูกๆ ก็อยู่ในวัยสูงอายุ หากเดินจริงอาจเป็นลมกันเป็นแถวแน่นอน เลยเปลี่ยนไปใช้วิธีบรรทุกรถแทน ก่อนศพเคลื่อนออกจากบ้านจะจุดประทัดและกรวดน้ำก่อน 

ฝังศพ

ก็เป็นไปตามพิธีฌาปนกิจปรกติ มีการถวายเครื่องนำทาง (เครื่องสังฆทานชุดใหญ่) ถวายผ้าบังสุกุล แต่เปลี่ยนจากเผามาเป็นฝั่งแทน ก่อนฝั่งจะมีการโปรยทานก่อน จุดประทัด จึงเริ่มหย่อนโลงลงหลุมจัดตำแหน่งโลงให้เหมาะสม จากนั้นจะเริ่มโปรยดินกลบ โดยที่ลูกชายคนแรกจะเริ่มเดินเวียนซ้ายรอบหลุมศพพร้อมกับโปรยดิน โปรยเหรียญเงิน ลูกๆ หลานๆ เหลนๆ และญาติๆ จะเดินตามกันเป็นแถว เวียนสามรอบ แล้วจึงคุ้นดินถมอย่างจริงจัง สภาพหลุมก็ขุดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการทำคันดินเป็นหมอนรองโลงสองอัน อีกอย่างนึงครั้งนี้ได้ขุดไปเจอโลงของก๋ง ซึ่งยังอยู่ในสภาพดีมากทีเดียว หลังจากก๋งได้จากพวกเราไปเมื่อ 23 ปีก่อน ฝังและพูนดินเสร็จก็เป็นอันว่าก๋งและย่าได้อยู่ด้วยกันแล้ว
เหรียญโปรทานหรือกำพรึก
หลังจากฝังเสร็จก็มีการเซ่นไหว้เป็นครั้งสุดท้าย มีการจุดประทัดกรวดน้ำตามพิธี จึงแล้วเสร็จ หากใครจะปลดเครื่องไว้ทุกข์ ก็จะวางไว้หน้ากระถางธูปที่นี่เลย ใครจะผลัดผ้าดิบเป็นผ้าดำปรกติ ก็จะปลดเหมือนกัน โดยมากเป็นญาติห่างๆ ที่ไม่สะดวกมาทำบุญร้อยวัน ลูก หลาน เหลนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ หรือทำงานที่ยากต่อการไว้ทุกข์ ก็จะปลดที่นี้ โดยมากจะผลัดเป็นผ้าดำ ผ้าขาวยกเว้นหลาน เหลน หรือญาติห่างๆ จะผลัดผ้าสีเลย
ปลดเครื่องไว้ทุกข์
เมื่อเสร็จกิจกรรมตามพิธีแล้ว ก็จะออกปากชวนคุณย่ากลับบ้าน โดยนำกระถางธูป รูปภาพ ตะเกียงลูกไก่กลับไปเซ่นไหว้ต่อที่บ้าน เมื่อถึงบ้านจะต้องล้างเท้าก่อน แล้วจึงก้าวข้ามกองไฟ ใครถือกระถามธูป ตะเกียง รูปภาพ ก็จะเดินหันหลังเข้าบ้าน จุดธูปบอกคุณย่าอีกครั้ง จึงแล้วเสร็จ ตลอดงานจะใช้ธูปไหว้สองดอก ซึ่งอาจแตกต่างกับการไหว้ศพคนไทยปรกติ

เซ่นไหว้ร้อยวัน

เนื่องจากตามประเพณีจะมีการเซ่นไหว้ผู้ตายก่อนหนึ่งร้อยวัน จะไม่มีการดับตะเกียงลูกไก่ และมีการตั้งน้ำตั้งข้าวเหมือนกับที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ จนกว่าจะครบร้อยวัน รวมทั้งมีการเซ่นไหว้เล็ก เหมือนกับตอนตั้งศพ ทุกๆ เจ็ดวัน จนครบเจ็ดครั้ง หรือ 49 วัน ก็จะหยุดไหว้เล็ก แล้วไปเซ่นไหว้หนึ่งร้อยวันทีเดียว และจะมีการทำบุญร้อยวัน (รวมทั้งหมดนี่ที่บ้านเรียกว่าใส่ร้อย) อีกครั้งหนึ่ง

ระลึกถึงคุณย่า

คุณย่าเป็นภาพของอดีตที่ผมจำได้เม่นกว่าก๋งมากนัก เนื่องจากคุณย่ามีอายุถึง 95 ปี ส่วนก๋งนั้นจากไม่เมื่อผมอายุน้อย คุณย่าเป็นคนเก่ง คนสู้ชีวิต เลี้ยงลูกหกคนได้สบาย ถึงแม้ว่าจะลำบากแต่ก็ไม่อด ท่านทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทำนา นวดข้าวเอง บูชาแม่โพสพ ขายขนมจีน เย็บตับจาก กวนนุ่น โกยบ่อเกรอะ ไล่ควาย ยอนไข่มดแดง แกงแลน ไม่ว่าของแปลกที่ใช้ทำกับข้าวจะเป็นอะไรท่านแกงได้หมด และรู้ว่าต้องทำอย่างไร อาจเป็นเพราะว่าสมัยก่อนยังยากจน ไม่ค่อยจะมีอะไรกิน (รวมไปถึงมีเงินก็ไม่รู้จะซื้อจากไหนด้วย) เป็นคนอยู่ไม่นิ่ง มีเวลาท่านจะเข้าป่า หาผักหวานป่า หาหน่อไม้ หรืออะไรที่กินได้ เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ จนครั้งนึงเคยขายวัวจนหมดฝูงแต่ก็เว้นไว้ให้คุณย่าหนึงตัว ไว้จูงไปกินหญ้าเพือออกกำลังกาย :D คุณย่าเป็นคนใจดีกับหลานๆ และชอบทำบุญ เวลาลาคุณย่าไปใหน ท่านจะให้พรว่า "ขอให้โชคดี โชคดี ทำงานให้เป็นเจ้าคนนายคน" ซึ่งพรประโยคนี้ดีมาก เนื่องจากสอนให้ทำงานมากกว่าพึ่งพาโชคแต่เพียงอย่างเดียว ภาพเหล่านั้นยังเป็นภาพจำของผมเสมอ

งานศพคุณย่า ทำให้ผมรู้ว่า สังคมบ้านนอกยังไม่ต้องใช้จ่ายค่าดำเนินงานในลักษณะนี้มากนัก แค่รู้ว่ามีงานศพไม่จำเป็นที่เจ้าภาพออกบัตรเชิญหรือบอกกล่าว ชาวบ้านที่เป็นมิตรก็พร้อมจะมาช่วยเหลือทันที ไม่ว่าจะเป็นทำกับข้าว ยกหลา (ประกอบเต้น) เสริฟอาหาร ล้างจาน พร้อมใจกันทำไม่ต้องบอก ได้ยินว่าก่อนที่ร่างคุณย่าจะมาถึงบ้าน ที่บ้านก็ยกหลาเรียบร้อยแล้ว มีโต๊ะเก้าอี้พร้อมเพรียง พร้อมจะจัดงาน เมื่อโลงพ้นเขตบ้านเต้นและเครื่องครัวทั้งหมดก็โดนขนกลับหมด มีเหลือให้เจ้าภาพได้จัดการต่อไม่มากนัก เคยมีคนกล่าวไว้ว่าเจ้าภาพมีหน้าทีเดียวคือร้องไห้ :D ของกำนัลที่นิยมให้ตอบแทนคนช่วยงานมีเพียงแค่เป็นผ้าขนหนู หรือผู้ชุบ (ผ้าขาวม้า) ผูกด้ายแดงเท่านัน คนครัวส่วนใหญ่ซึ่งเป็นหญิงจะได้ผ้าขนหนู คนยกหลา ยกโต๊ะ ยกโลง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายจะได้ผ้าชุบ ทุกคนต่างเต็มใจช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเครือญาติที่เหนียวแน่นด้วย จากการสังเกตแล้วไม่ค่อยจะมีเด็กรุ่นหนุ่มสาวมาช่วยงานมากนัก คงมีแต่รุ่นน้า รุ่นอา เท่านั้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไปเรียนหนังสือ หรือทำงานที่ต่างแดนก็เป็นได้ ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเช่นนี้อาจมีน้อยลงหรือจางหายไปไม่มีให้เห็นอีกแล้วในอนาคตก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ ด้วยบุญ ด้วยกุศลที่คุณย่าทำมาจากอดีต ขอจงเป็นแรงหนุนนำให้คุณย่าไปสู่ภพภูมิที่ดีด้วยเทอญ

ด้วยรักและอาลัยยิ่ง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บันทึกการจัดงานศพ: พิธีฌาปนกิจศพ

ตรงส่วนนี้คงจะเขียนเกี่ยวกับพิธียกศพออกจากบ้าน และเกร็ดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากที่จัดงานจะไม่นิยมไว้ศพที่วัด จะไว้ศพที่บ้าน และถ้าเป็นไปได้จะไว้ศพในบ้านเสียด้วยซ่ำ เมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ หรือเผาศพ ก็จะมีการเซ่นไหว้ครั้งใหญ่ก่อนเคลื่อนย้ายศพไปวัดเพื่อฌาปนกิจ เครื่องเซ่นไว้จะประกอบไปด้วย ข้าว 5 ถ้วย กับข้าว 5 อย่าง หัวหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม หมูสามชั้นต้ม หมี่เหลืองผัด กุ้ง หอย ปู ปลา ผลไม้ 5 อย่าง ขนมขึ้น เมื่อมีการเซ่นไหว้ทุกครั้งจะต้องมี สัปรด น้ำชา 3 จอก เหล้าขาว 5 จอก(หลานๆ บอกว่าเจ็คไม่กินเหล้าขาว แต่มีคนบอกว่าเป็นการไหว้ตามประเพณี ^^ ) ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมาย แต่ผมจำไม่ได้ต้องหาอีกครั้งนึง ตัวอย่างเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อถึงพิธีเซ่นไหว้ จะมีการเซ่นไหว้โดยแบ่งออกเป็นคณะ แต่เพื่อความสะดวกและรวบรัดจึงมีการไหว้เพียงไม่กี่คณะ ซึ่งก็เหมือนเดิมคือผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าจะไม่รวมการเซ่นไหว้ครั้งนี้ คณะแรกจะเป็นผู้ไกล้ชิดผู้ตายมากที่สุดเริ่มตั้งแต่ลูกและภรรยา หลังจากนั้นก็จะเป็นน้องๆ แล้วก็หลานๆ และก็มิตรรักและผู้คนที่นับถือผู้ตาย หากเป็นเมื่อสมัยก่อนนั้น ต้องแยกออกเป็นเขย เป็นสะไภ้ ไหว้กันหลายยกหล...

ตัวเอ๋ยตัวผม

กลอนนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเขียนขึ้นมาในห้องเรียนวิชาสัมนา 1 เพราะอาจารย์อยากให้แนะนำตัวเองเป็นกลอน ไม่รู้จะแต่งว่าไงเลยแต่งออกมาเป็นดอกสร้อย เห็นว่าพอใช้ได้เลยเอามาลงไว้เป็นอนุสร ๏ ตัวเอ๋ยตัวผม นิยมในพระพุทธศาสนา ตั้งจิตตั้งใจตั้งหน้า ใฝ่หาความรู้สู่ตน ตั้งใจศึกษาให้เชี่ยวชาญ ชำนาญในศาสตร์ที่ฝึกฝน ฝึกจิตฝึกสันดานให้เป็นคน เป็นชนในชาติที่ดีเอย ๚ะ๛