ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บันทึกการจัดงานศพ: พิธีฌาปนกิจศพ

ตรงส่วนนี้คงจะเขียนเกี่ยวกับพิธียกศพออกจากบ้าน และเกร็ดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากที่จัดงานจะไม่นิยมไว้ศพที่วัด จะไว้ศพที่บ้าน และถ้าเป็นไปได้จะไว้ศพในบ้านเสียด้วยซ่ำ เมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ หรือเผาศพ ก็จะมีการเซ่นไหว้ครั้งใหญ่ก่อนเคลื่อนย้ายศพไปวัดเพื่อฌาปนกิจ เครื่องเซ่นไว้จะประกอบไปด้วย ข้าว 5 ถ้วย กับข้าว 5 อย่าง หัวหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม หมูสามชั้นต้ม หมี่เหลืองผัด กุ้ง หอย ปู ปลา ผลไม้ 5 อย่าง ขนมขึ้น เมื่อมีการเซ่นไหว้ทุกครั้งจะต้องมี สัปรด น้ำชา 3 จอก เหล้าขาว 5 จอก(หลานๆ บอกว่าเจ็คไม่กินเหล้าขาว แต่มีคนบอกว่าเป็นการไหว้ตามประเพณี ^^ ) ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมาย แต่ผมจำไม่ได้ต้องหาอีกครั้งนึง

ตัวอย่างเครื่องเซ่นไหว้
เมื่อถึงพิธีเซ่นไหว้ จะมีการเซ่นไหว้โดยแบ่งออกเป็นคณะ แต่เพื่อความสะดวกและรวบรัดจึงมีการไหว้เพียงไม่กี่คณะ ซึ่งก็เหมือนเดิมคือผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าจะไม่รวมการเซ่นไหว้ครั้งนี้ คณะแรกจะเป็นผู้ไกล้ชิดผู้ตายมากที่สุดเริ่มตั้งแต่ลูกและภรรยา หลังจากนั้นก็จะเป็นน้องๆ แล้วก็หลานๆ และก็มิตรรักและผู้คนที่นับถือผู้ตาย หากเป็นเมื่อสมัยก่อนนั้น ต้องแยกออกเป็นเขย เป็นสะไภ้ ไหว้กันหลายยกหลายเที่ยวทีเดียว
  • การไหว้ของลูกและภรรยาจะมีการไหว้ด้วยธูปก่อน โดยจะมีการแนะนำให้เรียกผู้ตายมากินของเซ่นต่างๆ ที่ตั้งอยู่ จากนั้นก็เป็นการยกของเซ่นที่โต๊ะขึ้นมาเป็นอย่างๆ เพื่อเซ่นไหว้ โดยเริ่มจากข้าว แกง ขนม ผลไม้ ดอกไม้ เหล้า และน้ำชา โดย เหล้าและน้ำชาจากลูกและภรรยานั้น จะมีการรับเพื่อนำไปเติมไว้ที่จอกเหล้า และจอกชา ที่โต๊ะเซ่นไหว้ ของไหว้แต่ละอย่างจะยกขึ้นไหว้สามครั้ง หรือยกขึ้นยกลงสามครั้ง สุดท้ายก็เป็นการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง และการยืนไว้อาลัย
  • น้องๆ หลายๆ ก็มีลักษณะเดียวกันกับลูกและภรรยา มีการยกข้าวและน้ำเช่นกัน แต่น้ำชา และเหล้าจะมีการเทลงก่อตะไคร้ที่ไม่ตัดยอด อันนี้ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าทำไมต้องรดลงก่อตะไคร้ ถ้าทราบจะอธิบายเพิ่มเติม แล้วตามด้วยการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และการยืนไว้อาลัย
  • คณะบุคคลอื่นก็มีการไหว้ในลักษณะเดียวกัน แต่จะไม่มีการยกข้าว ยกแกง จะเหลือแค่การยกเหล้า และน้ำชา และการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และการยืนไว้อาลัยเท่านั้น
ลูก ภรรยา น้องๆ หลานๆ จะมีผ้าขนหนูสีขาว ผูกด้ายแดง พาดบ่าด้วยขณะที่เว่นไหว้ ตลอดจนเสร็จสิ้นพิธี อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม แต่เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานานแล้ว

น้ำชาและเหล้าที่เทลงก่อตะไคร้
ก่อนการยกศพออกจากบ้าน เจ้าภาพจะนำผ้าขนหนูไปผูกให้กับรถที่มาร่วมงานทุกคัน โดยที่ผ้าขนหนูทุกผืนผูกด้ายแดงไว้ด้วยเช่นกัน เขาบอกว่าเป็นอั่งเปา ขอบคุณคนที่มาช่วยงานซึ่งมากเอาการทีเดียวเนื่องจากทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีการแจกผ้าขาวม้า(ผ้าชุบ) ให้กับคนที่มาช่วยงานอื่นๆ เช่นประกอบเต้น(ยกหลา) ขนโต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ที่นี่พอศพออกจากบ้าน เผาเสร็จ เจ้าภาพกลับถึงบ้านแทบจะไม่หลงเหลืออะไรให้ทำเลย ถ้วยชาม เต้น โต๊ะ เก้าอี้ คนที่มาช่วยงานเก็บไปคือให้เสร็จสับ

ถึงเวลาเคลื่อนศพออกจากบ้าน ก่อนเคลื่อนจะมีการจุดประทัดก่อน แล้วก่อนยกขึ้นรถจะมีการกรวดน้ำอีกครั้งนึง โดยพระที่มานำทางให้ศพ โดยพระจะโปรยดอกไม้นำทางซึ่งประกอบด้วยดอกไม้มงคล คือ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย(ขนหยี หรือ กุนหยี) มะลิ ดอกเข็ม เฟื้องฟ้า ดอกรัก และกระดาษเงินกระดาษทอง และจะมีผู้รู้ หรือที่นี่เรียกว่าหมอ เป็นผู้ประพรมน้ำมนต์และว่าคาถา ตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงเผาเลยทีเดียว สิ่งที่นำไปกับขบวนด้วยได้แก่กระถางธูป ตะเกียง แล้วก็รูป โดยมักจะให้ลูกชายถือกระถางธูป เนื่องจากที่บ้านผมถือว่ากระถางธูปสำคัญมาก และไม่มีการทำป้ายวิญญาณกัน เคยได้ยินพ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนจะย้ายบ้านแต่ละครั้ง จะแบกกระถางธูปใส่เต็มกระจาดเลยทีเดียว ย้ายบ้านทีจะรวมกระถางธูปครั้งนึง แต่เนื่องจากงานนี้ลูกชายยังเล้กจึงให้หลานชายถือแทน

เมื่อพาศพมาถึงวัด ก็จะมีการเวียนซ้ายสามรอบตามงานศพทั่วไปแล้วก็นำศพขึ้นเชิงตะกอน แล้วก็บำเบ็ญกุศล นิมนต์พระมาสวดมาริกา-บังสุกุล ตามประเพณีไทย หลังจากนั้นมีการวางดอกไม้จัน ตามปรกติ เสร็จแล้วเปิดฝาโลงเผื่อป้อนน้ำให้ศพโดยใช้แหวนห้อยด้วยสร้อยตักน้ำแล้วป้อนที่ปาก แล้วมีการล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว แล้วก็เริ่มพิธีเผาตามปรกติ ก่อนที่จะนำศพเข้าเตาจะมีการหว่านลูกกำพรึก ซึ่งเป็นเหรียญห่อด้วยกระดาษข้าวเหนียวสีเหลือง โดยผู้หว่านจะยืนหันหลังให้กับทิศที่จะหว่านแล้วหว่านกลับหลังไป ผู้ที่มาร่วมงานจะเก็บลูกกำพฤกเหล่านั้นเอาไปใช้หรือบางคนเก็บไว้เป็นขวัญถุงตามแต่ชอบใจ ถือว่าเป็นการทำทานให้ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนร่างจะหายไปพร้อมกับไฟ

ลูกกำพรึก
หลังจากปิดเตาสักพัก ทางญาติๆ จะมีการเรียกให้ผู้ตายกลับบ้าน โดยจุดธูปใหม่ใส่กระถางธูป แล้วให้ญาติเรียกกลับบ้าน โดยนำ ตะเกียง และรูปกลับบ้านด้วยพร้อมกันเลย (การเรียกกลับบ้านไม่พบในประเพณีไทย) หลังจากนั้นก็รอให้เผาเสร็จแล้วก็เก็บกระดูกในวันรุ่งขึ้น ทางบ้านเรียกว่าดับธาตุ ซึ่งเป็นการทำตามปรกติธรรมเนียมไทยจึงไม่ขอกล่าวในที่นี้

สำหรับกระถางธูป และ ตะเกียงที่นำกลับไปบูชาต่อที่บ้าน ตะเกียงจะต้องไม่ดับโดยเจ้าบ้านจะค่อนหมั่นเติมน้ำมัน เรียกว่าเดินตะเกียง จะมีการตั้งสำหรับกับข้าวเซ่นไหว้ 100 วันก่อนจะมีพิธีที่เรียกว่า "ใส่ร้อย" หรือบำเพ็ญกุศลครบร้อยวัน จึงจะดับตะเกียง แล้วนำกระถางธูปขึ้นบูชาที่หิ้งบูชาบรรพบุรุษต่อไป

หวังว่าบันทึกสองตอนนี้จะช่วยเตือนความทรงจำของผม และบอกเล่าประเพณีเกี่ยวกับการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพ หรืองานศพ ให้ผู้คนท้องถิ่นอื่นได้รับรู้ ที่จริงตอนแรกไม่คิดจะบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ว่าระหว่างงานได้ยินพิธีกรบอกว่า ประเพณีเหล่านี้กำลังจะสูญหายเนื่องจากคนรุ่นใหม่ต้องการความสะดวกสะบายจึงละเว้นพิธีหลายอย่างเสีย ด้วยคำสองคำคือ "ไม่พรือ ไม่ต้องกะได้" (ไม่เป็นไร ไม่ต้องทำก็ได้)

สุดท้ายเมื่ออยู่ในงานศพจะมีการพิจารณาผ้าบังสุกุลโดยใช้บทที่ว่า
อนิจฺจา วต สงฺขารา
อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ
เตสํ วูปสโม สุโขติ ฯ

แปลได้ว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป
ความสงบระงับดับไปแห่งสังขารนั้นเป็นสุข
เป็นการเตือนสติไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลาย ทั้งที่หมายถึงกาย และการปรุงแต่งของจิต หากดับได้ก็จะพบความสุขที่หาที่เปรียบมิได้นั้นเอง

ความคิดเห็น

  1. เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ๆ ค่ะ เป็นคนหนึ่งที่ยังยึดติดกับประเพณีดั้งเดิม เพราะเติบโตและปลูกฝังมากับประเพณีดังกล่าว ---บทความที่คุณสละเขียนขึ้นมาเป็นความคุ้นเคย ที่เราจำได้ตลอดจนถึงวันนี้ ขอบคุณสำหรับน้ำใจที่แบ่งปันค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ประเพณีเป็นความงดงานของวัฒนธรรมครับ บันทึกไว้บ้างเดี๋ญวจะเหลือแค่รูปแบบไม่รู้ความหมาย \o/

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตัวเอ๋ยตัวผม

กลอนนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเขียนขึ้นมาในห้องเรียนวิชาสัมนา 1 เพราะอาจารย์อยากให้แนะนำตัวเองเป็นกลอน ไม่รู้จะแต่งว่าไงเลยแต่งออกมาเป็นดอกสร้อย เห็นว่าพอใช้ได้เลยเอามาลงไว้เป็นอนุสร ๏ ตัวเอ๋ยตัวผม นิยมในพระพุทธศาสนา ตั้งจิตตั้งใจตั้งหน้า ใฝ่หาความรู้สู่ตน ตั้งใจศึกษาให้เชี่ยวชาญ ชำนาญในศาสตร์ที่ฝึกฝน ฝึกจิตฝึกสันดานให้เป็นคน เป็นชนในชาติที่ดีเอย ๚ะ๛

ด้วยระลึกถึงคุณย่า บันทึกจากความทรงจำ

บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อบันทึกความทรงจำของผมที่มีต่อคุณย่าที่ล่วงลับไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนคืน คุณย่าเปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ร้อยครอบครัวใหญ่ของเราเอาไว้ไม่ให้แตกแยก หลังจากที่เสียคุณปู่ไปเมื่อ 23 ปีก่อน เนื่องจากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก แต่มักจะเป็นชาวจีนที่อพยพมาไทยนานแล้ว จากการการสังเกตของผม ชาวจีนแถบนี้โดยมากน่าจะเป็นชาว เปอรานากัน หรือชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมลายูหรืออินโดนีเซีย แล้วหลังจากนั้นจึงอพยพมาอาศัยต่อที่ประเทศไทย จากการบอกเล่าของคุณแม่ ก๋งเคยเล่าให้ฟังว่าตอนยังเด็กเคยแจวเรือจ้างอยู่ที่ปีนัง คุณย่าเคยเล่าว่าเป็นชาวฮกเกี้ยน อีกทั้วจากรูปวาดคุณย่าทวดที่มีการเกล้ามวยผม สวมเสื้อคอลึก ส่วนทางบ้านมีการใช้คำเรียกจีนผสมไทยถิ่นใต้อยู่มาก ผู้หญิงทุกคนนิยมสวมผ้าปาเต๊ะ เสื้อลูกไม้ (เสื้อฉลุลายดอกไม้) อาหารการกินเป็นแบบชาวไทยถิ่นใต้ทุกประการ (กินน้ำพริก แกงส้มเก่งกันทุกคน ยกเว้นก๋ง :D) อีกทั้งก๋งเกิดที่ดินแดนแถบนี้ไม่ได้เดินทางมาจากเมืองจีน (บางทีเรียก เตี่ยต่อเตี่ย คือ ทวดมาจากจีน ส่วนสถานที่เกิดไม่แน่ใจว่าเป็นปีนังหรือไทย)