ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2553 น้ำท่วมหาดใหญ่: น้ำท่วม

จากเรื่องที่แล้ว 2553 น้ำท่วมหาดใหญ่: น้ำมา คราวนี้มาดูกันว่านน้ำท่วมจะเป็นอย่างไร ผมในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยจะเล่าให้ฟังว่ามหาวิทยาลัยทำอะไรไปบ้าง และความช่วยเหลือที่ประสบพบเห็นมีอะไรบ้างครับ

น้ำท่วม
เมื่อเริ่มเช้าวันที่ 2 พฤศจิกายนผมลองมาเช็คข่าวทางทวิตเตอร์ปรากฏว่าน้ำได้ท่วมขังมีระดับสูงในหลายพื้นที่ หลายคนที่พอจะใช้ทวิเตอร์ได้เช่น @tichatak ก็บอกระดับน้ำพร้อมขอความช่วยเหลือเพราะอย่างนำเด็กเล็กๆ ออกไปจากพื้นที่ ในวันนี้แท็ก #hdyflood เริ่มมีคนใช้กันมากขึ้นจึงสามารถตามแท็กนี้ได้ง่ายขึ้น มารู้อีกครั้ง #dotcafe ก็จมไปกับสายน้ำ @ifine ถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมร้านก็ยังมาช่วยรายงานสถานการณ์น้ำท่วม (พี่แกให้เหตุผลท่วมแล้วทำไรไม่ได้ ทำที่มีประโยชน์ดีกว่า ได้ใจจริงพี่บ่าวเรา :P) ในวันนี้เครือข่ายโทรศัพท์เริ่มมีปัญหาไม่สามารถโทรศัพท์ใด้ เริ่มมีคนขอความช่วยเหลือทางทวิตเตอร์และเว็บไซต์ hdyflood.com มากขึ้น ปัญหาต่อมาที่ทำให้ @win_chayin และ @ifine เริ่มหนักใจคือ แล้วเราจะประสานกับผู้ให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ในตอนแรกตั้งใจจะทำเว็บขึ้นเพื่อรายงานสถานการณ์น้ำท่วมเท่านั้น เมื่อโทรศัพท์มีช่องทางน้อยแต่ผู้ต้องการรับความช่วยเหลือมีอยู่มาก อีกทั้งเบอร์โทรช่วยเหลือยามฉุกเฉินก็ไม่ทราบ หนทางที่จะสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้อยู่บ้างคืออินเตอร์เน็ต แต่เสียงเรียกร้องเล่านั้นทางทีมงานไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เนื่องจากข่าวสารบนเว็บนั้นยังมีระดับความน่าเชื่อถือต่ำสำหรับผู้ปฏิบัติงานอีกทั้งยังโดนปรามาสว่าคนน้ำท่วม ไฟดับจะใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างไร (เซ็งจริงเจ้าหน้าที่ไทย) แต่จนแล้วจนรอด @win_chayin และ @ifine รวมถึงผู้อื่นที่ผมอาจจะไม่ทราบก็สามารถประสานงานติดต่อหน่วยงานที่พอให้การช่วยเหลือได้บ้าง (ต้องขอบคุณในความพยายามเหล่านี้) แต่อย่างไรก็ตามทุกๆ การร้องขอก็ใช้ว่าจะสามารถติดต่อให้ได้เร็วดังใจ เนื่องจากหลายพื้นที่มีน้ำเชี่ยวมากยากต่อการให้ความช่วยเหลือ เสียงที่หลายท่านส่งมายังเว็บไซต์หรือบนทวิตเตอร์อาจไม่ได้รับการดูแลก็เป็นปมในใจของทีมงานเช่นกัน
จากการติดตามข่าวสารระดับน้ำในปี 2553 นั้นมากกว่าปี 2543 มากๆ ส่งผลให้คูคลองที่มีอยู่ไม่สามารถระบายได้ทันดังหลายๆ ปีก่อนหน้านี้ ประกอบกับหาดใหญ่ว่างเว้นจากการโดนน้ำท่วมในบริเวณตัวเมืองมานานส่งผลให้เกิดความชะล่าใจอยู่พอสมควร อีกทั้งการประกาศเตือนภัยทางวิทยุนั้นถึงแม้ว่าจะสามารถกระจายข่าวสารได้ดี แต่จะมีสักกี่คนที่ยังเปิดวิทยุฟังอยู่ อีกทั้งหลังจากเจอพายุเมื่อวันที่ 1เป็นต้นมาไฟฟ้าในหลายพื้นที่ได้ดับลง การประกาศเตือนภัยแทบจะเรียกได้ว่าไม่ทั่วถึงก็ว่าได้ หลังจากพายุผ่านไป ฝนก็หยุดตกราวกับปิดสวิตซ์ พื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมแล้วอยู่ไกลจากแหล่งน้ำจะรู้ได้อย่างไรว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร อีกทั้งผมยังไม่ทราบว่าในเมืองจะมีรถประกาศเตือนภัยหรือเปล่าซึ่งเรื่องเหล่านี้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลควรใส่ใจมากเป็นพิเศษ ไม่ใช้อะไรก็ประกาศทางวิทยุบ้านที่ไฟดับถึงแม้จะมีวิทยุแล้วจะฟังได้อย่างไร ความเสียหายครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก แต่สำหรับผมแล้วองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะพิจารณาแผนเตือนภัยหรือแผนอพยพให้มากกว่านี้ (ทีไฟไหม้ยังซ้อมได้ แล้วทำไมน้ำท่วมถึงไม่ซ้อม) ไม่มีการประกาศสถานที่อพยพล่วงหน้าหรือให้ความรู้ว่าเวลาน้ำท่วมควรปฏิบัติตนเช่นไร (ประกาศไว้บนอินเตอร์เน็ต หรือประกาศตอนน้ำท่วมแล้วจะมีประโยชน์อะไร) หรือประกาศกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยต้องอพยพทันทีหากมีประกาศเตือน สังเกตดูได้เลยว่าเมื่อน้ำท่วมแล้วการช่วยเหลือทุกอย่างลำบากไปหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ จะคลอดยังลำบากเลย หากจะอ้างว่าคนไม่พอ งบไม่มี สำหรับผมแล้วฟังไม่ขึ้นเลย นักศึกษายังทำค่ายอาสาได้โดยที่ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว ระดับผู้บริหารส่วนท้องถิ่นคงไม่ด้วยไปกว่านักศึกษาหรอกครับ

ช่วยเหลือ
ผมได้เขียนเล่าเรื่องการขอความช่วยเหลือไว้บ้างในข้างต้น แต่ยังมีอีกหลายประเด็นทียังไม่พูดถึง จะขยายความนิดหน่อย หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ คงมีอยู่บ้างแต่ผมไม่รู้จัก สำหรับการขอความช่วยเหลือในเหตุการน้ำท่วมหาดใหญ่ในครั้งนี้ ทางโทรศัพท์เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทางอินเตอร์เน็ตในวันแรกๆ ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก เจ้าหน้าที่บางคนยังไม่รู้เลยว่าใช้ช่องทางเหล่านี้ได้ อีกทั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่รับผิดชอบโดยตรงนั้นมีอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่อยู่น้อย ยากต่อการให้ความช่วยเหลือ หากไม่มีทหารบก ทหารเรือ และ ตชด. แล้วคงมีความสูญเสียมากกว่านี้อีกแน่นอน
การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่เป็นด้วยความยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำที่เชียวกรากและความไม่ชำนาญพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง ผมได้ยินเรื่องตลกมาว่าเขาขอคนในพื้นที่ไปกับเรือด้วย แต่สำหรับคนหาดใหญ่แล้วถึงแม้ว่าไม่เป็นคนในพื้นที่ก็ชำนาญพื้นที่เช่นกัน หาดใหญ่นอกจากเป็นเมืองเศษฐกิจแล้วยังเป็นเมืองที่มีของกินมากเป็นพิเศษช่วงที่เป็นนักศึกษาก็ออกตระเวณหาของกินกันจนรู้จักเกือบทุกซอกทุกมุมเลยทีเดียว (ที่จริงน่าจะถามว่าใครไปพื้นที่นี้ได้บ้างก็น่าจะเพียงพอ :D) อีกทั้งบริเวณตัวเมืองหาดใหญ่นั้นกว้างมีตึกร้านบ้านช่องมากมาย หากใช้เรือติดเครื่องยนต์กำลังแรงเข้าไปคลื่นน้ำที่สะท้อนมากระทบเรืออาจจะถึงกับคว้ำเรือได้อย่างง่ายดาย บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ใกล้คลองต่างๆ มักโชคร้ายเนื่องจากกระน้ำไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือในวันที่น้ำลดผมมีโอกาสได้ไปแจงถุงดำไว้ใส่ขยะ (ของ FM88 ม.อ.) ให้ชาวบ้านแถวจันทร์วิโรจน์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้คลองเขาบอกผมว่านี่เป็นของสิ่งแรกที่ได้รับแจก ข้าวสักถุงยังไม่ได้เลย (ฟังแล้วอึ่งถึงกับช็อคเล็กน้อย) @igoyz บอกว่า "แถวบ้านแม่พี่ก็ไม่ได้รับนะ ตอนน้ำท่วม ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เลยอ่ะ" (อ้างอิง status) แสดงว่าความช่วยเหลือที่มีอยู่นั้นไม่ทั่วถึงจริงๆ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานหนักเพียงใดก็ตาม
การรายงานความช่วยเหลือเราอาจจะมีช่องทางร้องขอหลายช่องทาง แต่ช่องทางเหล่านั้นเพียงพอต่อการรับความช่วยเหลือหรือไม่ หากสภาพการปรกติอาจจะใช่และเหลือเฟือแต่กับภัยพิบัติแล้วมันไม่เพียงพอ หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือน่าจะมีหน่วยประสานงานที่มีช่องทางสื่อสารสามารถรองรับผู้ร้องขอได้เป็นจำนวนมากและหลากหลายช่องทางการสื่อสารมากกว่าทางโทรศัพท์ ผมเห็นบางคนถึงกับขอความช่วยเหลือทางทวิตเตอร์ด้วยความกังวลประมาณว่า ได้โปรดติดต่อให้หน่อย โทรไปใหนก็ไม่ติด อย่างน้อยๆ หากเราไม่สามารถช่วยเหลือเขาเหล่านั้นได้ เราก็น่าจะมีช่องทางสื่อสารที่บอกเขาได้ว่าควรปฏิบัติตนเช่นไร เขาจะได้ตั้งสติแล้วปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้อง ก่อนความช่วยเหลือจะไปถึงเพื่อเอาชีวิตรอด มากกว่าปล่อยให้เขาเหล่านั้นต้องเผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดาย หลายๆ ศูนย์ให้ความช่วยเหลือเปิดศูนย์วิทยุเพื่อรับฟังข่าวสารและติดต่อสื่อสารผมอยากทราบว่าชาวบ้านตาดำๆ ที่ใหนเขาใช้วิทยุสมัครเล่นกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเช่น facebook หรือ twitter บ้างเถิด ถึงแม้ว่าตอนนี้ชาวบ้านอาจจะไม่รู้จัก แต่จากน้ำท่วมครั้งนี้มันแสดงให้ผมเห็นว่ามันมีพลังไม่ใช่น้อยทีเดียว
ผมไม่อยากให้หลายๆ คนคอยตำหนิภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลในเวลานี้ เนื่องจากปีนี้ถือว่าเป็นปีแห่งภัยพิบัติน้ำท่วมก็ว่าได้ กินบริเวณกว้าง เรียกได้ว่าเกือบทั้งประเทศเลยทีเดียว ตรงนู้นก็งานตรงนี้ก็งานอีกทั้งระเบียบราชการยังมีมากมายจะให้เร็วทันใจเห็นทีจะยากรอดูยาวๆ แล้วค่อยวิจารย์ยังจะเหมาะกว่า แต่ผมกลับคาดหวังไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. อบจ. เทศบาล) มากกว่าเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ แทนที่จะมีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยที่ดีกลับต้องมาประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งต่อให้รัฐบาลมีแผนการดีกว่า กำลังคนและงบประมาณมากว่าอย่างไรก็ตามการจะพาทีมจากส่วนกลางมาให้ความช่วยเหลือได้นั้น ชาวบ้านอาจจะตายไปหมดแล้วก็เป็นได้ องค์กรปกครอส่วนท้องถิ่นต้องเตรียมการ กำหนดนโยบาย ออกประกาศเตือนภัย และพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงจึงจะถูก อีกทั้งมีข้อมูลสภาพพื้นที่ต่างๆ อยู่ในมือแล้วแท้ๆ แต่ทำอะไรแทบไม่ได้เลย ผมอยากจะรู้จริงๆ ว่าถ้าไม่ได้เรือจากกองทัพเรือ ไม่รู้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะมีเรือที่พร้อมใช้งานสักลำหรือเปล่า การป้องกันภัยพลเรือนน่าจะมาจากพลเรือนมากกว่าทหารเนื่องจาก ทหารมีระเบียบมากกว่าจะเข้ามาช่วยเหลือได้ก็ไม่ทันการแล้ว

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ทางกองกิจการนักศึกษาประกาศตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับบริจาคข้าวสาร ไข่ไก่ ยารักษาโรค เครื่องอุปโภค บริโภคสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมอีกทั้งจัดสถานที่เป็นที่พักพิงผู้อพยพอีกด้วย การทำงานที่รวดเร็วนี้เป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยเคยมีประสบการณ์ตอนปี 2543 มาแล้วจึงได้ให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาหารซึ่งอยู่ในความครอบครองของชมรมต่างๆ มีมากมาย จึงมีความเพรียบพร้อมอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษจิกายน 9.00 น. เป็นต้นไป ถึงแม้ว่าบรรยาการใต้อาคารกิจการนักศึกษา (หรือที่ชาว ม.อ. รู้จักกันดีในนามตึกกิจฯ) ในช่วงเช้ายังไม่คึกคักมากนักอาจจะเป็นเพราะนักศึกษาใหม่หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบข่าว แต่ก็ได้เริ่มหุงข้าวเพื่อนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยกันแล้ว ในระหว่างนั้นเริ่มมีผู้เข้ามาบริจากเงิน ข้าวสาร ฯลฯ ตามกำลังของแต่ละคน ไม่ทันเที่ยงวันนักศึกษาก็เข้ามาช่วยงานกันเต็มตึกกิจการนักศึกษาเลยทีเดียว เหตุที่ ม.อ. เน้นการประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัย เนื่องจากประสบการณ์เมื่อปี 2543 เช่นกัน การที่น้ำท่วมแล้วไม่มีไฟฟ้าก็ยากลำบากที่จะปรุงอาหารกินเอง ถึงแม้ว่าบางบ้านจะมีแก๊สก็ตามที ใช้ว่าทุกบ้านจะยกถังแก๊สขึ้นไปไว้บนที่สูงทัน ในความเห็นของผมผมคิดว่าสิ่งที่ ม.อ. ทำถูกต้องแล้ว เนื่องจาก ม.อ. มีกำลังคน อยู่บนที่สูงติดกับบ้านที่ยังไม่ประสบภัยจำนวนมาก แถมยังมีถนนที่สามารถไปถึง อ. นาหม่อมได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอีกด้วย มีน้ำประปาใช้เองส่งผลให้ไม่ขาดน้ำขาดไฟอย่างแน่นอน อีกทั้งมีสถานีวิทยุ FM88 ของทางมหาวิทยาลัยเองซึ่งสามารถประกาศขอความช่วยเหลือไปยังประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบได้ง่าย ม.อ. ปรุงอาหารและจัดเป็นชุดๆ ได้ประมาณ 20,000 ชุดต่อวัน (อ้างอิงจาก status ของ @domondalls) ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่าน่าจะได้มากกว่านี้แต่ติดอยู่ที่หม้อหุงข้าว หม้อหุงข้าวคือคอขวดของกระบวนการผลิตอาหารเนื่องจากเราสามารถส่งปลากระป๋องทอดไข่ ไข่ต้มเป็นกับข้าวได้ แต่ข้าวเราต้องรอจน อ. ที่เคยให้ความช่วยเหลือตอนน้ำท่วมปี 2543 ประกาศให้นักศึกษาที่อยู่หอพัก บุคลากรที่มีหม้อหุงข้าวรับข้าวสารไปหุงแล้วนำกลับมาให้ที่ศูนย์กันเลยทีเดียว มิฉะนั้นด้วยข้อจำกัดนี้จะทำให้หุงข้าวได้ปริมาณน้อยมาก ผมมีโอกาสอยู่ตึกกิจการนักศึกษาเพียงวันเดียว เนื่องจากมีคนล้นงานผมจึงออกไปช่วยเหลือที่อื่นๆ สถานการณ์ของศูนย์อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อยากให้คนที่อยู่ช่วยเหลือที่ศูนย์ ม.อ. บอกเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ
ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ผมได้ไปร่วมรายงานข่าวที่ตึกกิจการนักศึกษาด้วย ดูหมือนผมจะไม่ทำอะไรเพราะผมนั่งเปิดคอมกับ twitter client ท่ามกลางนักศึกษาเภสัชฯ ที่ใส่ยากันอย่างขะมักเขม้นแต่ผมก็พยายามคิดเอาเองว่าในเมื่อผมทำงานที่ถนัดแล้วจะเป็นอะไร ผมช่วยประกาศความต้องการของศูนย์โดยสอบถามจากอาจารย์ที่อยู่ในบริเวณนั้นว่าต้องการอะไรบ้าง คำตอบที่น่าสนใจและไม่คิดว่าของเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการคือ นมเด็กอ่อน ยาน้ำสำหรับเด็ก ผ้าอนามัย แต่แล้วคิดไปคิดมามันจำเป็นจริงๆ นะเพราะหากน้ำท่วมคนออกมาไม่ได้แล้วเกิดเห้ตุการณ์ที่ต้องการอย่างนี้จะทำอย่างไร ? อีกอย่างนึงที่สำคัญไม่แพ้กันคือเทียนไข ไฟฉาย และถ่านไฟฉายก็จำเป็นไม่แพ้กัน ยามค่ำคืนที่โดนตัดไฟจะได้มีแสงสว่างจากของเหล่านี้เป็นกำลังใจได้บ้าง ผมคิดว่าผู้ที่เป็นศูนย์ประสานงานรับบริจาคที่กรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ควรคำนึงถึงเรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ให้มากขึ้นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องน่าจะมีรายการของบริจาคที่จำเป็นต้องใช้ขึ้นไว้บ้าง อีกทั้งสภาพทางสังคมของแต่ละพื้นที่อาจไม่เหมือนกันโดยเฉพาะภาคใต้มีชาวไทยมุสลิม อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาหารต่างๆ ควรจะให้ตรงหลักปฏิบัติของแต่ละศาสนาด้วยจะเป็นการดี การประกาศความต้องการให้ผู้บริจาคทราบล่วงหน้า ผู้บริจาคจะได้นำของมาบริจาคถูกว่าต้องการอะไร ถึงแม้ว่าผมจะใช้ทวิตเตอร์อยู่บ่อยๆ แต่ผมมี follower น้อยต้องขอบคุณ @lewcpe และ สมาชิก #twitHY ทุกคน ที่ช่วย rt ข้อความของผมจนหลายคนได้ช่วยจัดหาสิ่งของที่ทางศูนย์ต้องการส่งมาให้อย่างครบถ้วน (ถึงแม้ว่าที่เขามาบริจาคจะไม่ได้อ่านทวิตของผมก็ตามที)
นอกจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว หน่วยงานทางด้านสุขภาพเช่นโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และคณะพยาบาลศาสตร์ก็เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือเช่นกัน (ขอบคุณเพื่อนแตงที่ส่งข่าว) เช่นการสำรองเลือด หน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเตรียมพร้อมรับผู้ประสบภัยที่ห้องฉุกเฉินของทางโรงพยาบาล นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ยังผลิตน้ำดื่มเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบภัยจำนวนมากด้วย

โรงทานย่อย
ถึงแม้ว่าศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีบุคลากรเพียบพร้อมเพียงใด แต่การปรุงอาหารเลี้ยงคนทั้งหาดใหญ่และอำเภอรอบข้างที่โดนน้ำท่วมนั้นเห็นทีจะเกินกำลัง เนื่องจากมีอุปกรณ์อยู่อย่างจำกัด ผมคิดว่าการกระจายสถานีประกอบอาหารออกไปยังคณะต่างๆ เป็นเรื่องที่ดีกว่า เนื่องจากแต่ละคณะจะมีสโมสรนักศึกษา ซึ่งพอจะมีอุปกรณ์ประกอบอาหารอยู่บ้างถึงแม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มากแต่ดีกว่า ไม่มีเลย แต่กลับกลายเป็นว่าใต้ตึกกิจฯ คือศูนย์หลักรถผู้บริจาคก็ไปที่นั้น รถผู้ที่ออกไปช่วยเหลือก็ไปที่นั้นส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดรอบตึกกิจฯ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งตึกกิจฯ ไม่สามารถผลิตอาหารได้ทันตามความต้องการจึงมีการจอดรอกันเป็นเวลานาน จากการที่ผมออกไปช่วยลำเลียงอาหารให้กับสถานีวิทยุ FM88 ม.อ. ผมจึงทราบว่านอกจากใต้ตึกกิจฯ แล้วยังมีนักศึกษาคณะศิลปศาสต์หุงข้าวกับกระทะใบบัวด้วยฟืนแล้วผัดเป็นข้าวผัดปลากระป๋องเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของศูนย์ใต้ตึกกิจฯ นี่แสดงให้เห็นว่าเขาเล่งเห็นว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ น้องๆ คณะนี้ทำได้ดีทีเดียว (ได้ข่าวว่าอร่อยด้วย) ถึงแม้ไม่มีแก๊สหุงต้มก็ยังใช้ฟืน หาดใหญ่ที่พึ่งผ่านฝนตกอย่างต่อเนื่องมา 3 วันการที่จะหาฟืนแห้งมาก่อไฟไม่ใช้เรื่องง่ายยกนิ้วให้เลยครับ
นอกจากคณะนี้แล้วยังมีวัดคลองเปลและธรรมสถาน ม.อ. สำหรับธรรมสถาน ม.อ. นั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักแต่ก็ผลิตอาหารได้กว่าสามพันชุดต่อวันทีเดียว ดำเนินงานโดยอาจารย์คณะพยาบาลซึ่งตอนหลังมีโรงทานเคลื่อนที่โดยหลวงปู่พุทธอิสระจากวัดอ้อน้อยมาช่วยประกอบอาหาร (ได้ข่าวว่าไปโคราชมาก่อนหน้านี้) ที่ธรรมสถาน ม.อ. ผมประทับใจนักศึกษาคณะทันตแพทย์คนหนึ่งมากนั้นคือหมอแนน หมอแนนมาช่วยที่ธรรมสถานแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ผมไม่ทราบแต่เท่าที่ทราบคือมาตอนเช้าและช่วยจนถึงวันสุดท้าย ทั้งที่หลายๆ คนได้มาแล้วจากไปเป็นจำนวนมากนอกจากนี้ยังมีน้องข้าว อาร์ม บอย (3 คนนี้มาพร้อมโบ๋วเด็ก :P) แม็ก โอ๋ ริช ที่มาช่วยอย่างเต็มที่ (ผมไม่คิดว่าเด็กผู้ชายจะนั่งทนมัดถุงข้าวได้เป็นวันๆ แต่ก็ทำได้ \o/) โรงทานย่อยๆ เหล่านี้ช่วยแบ่งเบาาศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มากทีเดียว (ของธรรมสถานทางสถานีวิทยุ FM88 ม.อ. มักจะประสานเพื่อส่งไปยังเฮลิคอปเตอร์ของ ตชด. เพื่อส่งไปให้ผู้ประสบภัยที่รถและเรือเข้าไปไม่ถึงขอบคุณพี่กุลที่ช่วยประสานงาน)

น้ำใจไทย
เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่รู้ว่าหาดใหญ่น้ำท่วมสายการบินนกแอร์ก็เริ่มเปิดให้ฝากสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาจจะดูว่าผมโฆษนาให้สายการบินนี้มากไปหน่อย แต่ผมคิดว่ามันไม่เกินเลยเนื่องจากสิ่งของบางอย่างทางศูนย์บรรเทาทุกข์ของทางหาดใหญ่เองไม่ได้จัดเตรียมไว้ และหาได้ยากเนื่องจากเขตเศษฐกิจของหาดใหญ่ได้จมน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับก่อนหน้านี้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสานได้ประสบภัยน้ำท่วมมาก่อนแล้ว หลายๆ ท่านน่าจะเสียสละทรัพย์สินไปก่อนหน้านี้ แต่กระนั้นแล้วถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมสูงสักเพียงใหน น้ำใจของคนไทยนั้นไหลท่วมมากยิ่งกว่า (ยืมมาครับจำไม่ได้ว่าของใคร :D) เพียงไม่กี่วันชาวหาดใหญ่ก็ได้รับน้ำใจของทุกภาคส่วนในประเทศไทย ถึงแม้ว่าไม่อาจเยียวยาความทุกข์ได้ทั้งหมด แต่ก็ซับน้ำตาที่ไหลรินได้บ้าง มีหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเป็นสื่อกลางในการรับบริจาค เพื่อลำเลียงความช่วยเหลือมาสู่ชาวใต้ ต้องขอขอบคุณด้วยใจจริง o/\o

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บันทึกการจัดงานศพ: พิธีฌาปนกิจศพ

ตรงส่วนนี้คงจะเขียนเกี่ยวกับพิธียกศพออกจากบ้าน และเกร็ดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ เนื่องจากที่จัดงานจะไม่นิยมไว้ศพที่วัด จะไว้ศพที่บ้าน และถ้าเป็นไปได้จะไว้ศพในบ้านเสียด้วยซ่ำ เมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ หรือเผาศพ ก็จะมีการเซ่นไหว้ครั้งใหญ่ก่อนเคลื่อนย้ายศพไปวัดเพื่อฌาปนกิจ เครื่องเซ่นไว้จะประกอบไปด้วย ข้าว 5 ถ้วย กับข้าว 5 อย่าง หัวหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม หมูสามชั้นต้ม หมี่เหลืองผัด กุ้ง หอย ปู ปลา ผลไม้ 5 อย่าง ขนมขึ้น เมื่อมีการเซ่นไหว้ทุกครั้งจะต้องมี สัปรด น้ำชา 3 จอก เหล้าขาว 5 จอก(หลานๆ บอกว่าเจ็คไม่กินเหล้าขาว แต่มีคนบอกว่าเป็นการไหว้ตามประเพณี ^^ ) ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมาย แต่ผมจำไม่ได้ต้องหาอีกครั้งนึง ตัวอย่างเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อถึงพิธีเซ่นไหว้ จะมีการเซ่นไหว้โดยแบ่งออกเป็นคณะ แต่เพื่อความสะดวกและรวบรัดจึงมีการไหว้เพียงไม่กี่คณะ ซึ่งก็เหมือนเดิมคือผู้ที่มีศักดิ์สูงกว่าจะไม่รวมการเซ่นไหว้ครั้งนี้ คณะแรกจะเป็นผู้ไกล้ชิดผู้ตายมากที่สุดเริ่มตั้งแต่ลูกและภรรยา หลังจากนั้นก็จะเป็นน้องๆ แล้วก็หลานๆ และก็มิตรรักและผู้คนที่นับถือผู้ตาย หากเป็นเมื่อสมัยก่อนนั้น ต้องแยกออกเป็นเขย เป็นสะไภ้ ไหว้กันหลายยกหล...

ตัวเอ๋ยตัวผม

กลอนนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีเขียนขึ้นมาในห้องเรียนวิชาสัมนา 1 เพราะอาจารย์อยากให้แนะนำตัวเองเป็นกลอน ไม่รู้จะแต่งว่าไงเลยแต่งออกมาเป็นดอกสร้อย เห็นว่าพอใช้ได้เลยเอามาลงไว้เป็นอนุสร ๏ ตัวเอ๋ยตัวผม นิยมในพระพุทธศาสนา ตั้งจิตตั้งใจตั้งหน้า ใฝ่หาความรู้สู่ตน ตั้งใจศึกษาให้เชี่ยวชาญ ชำนาญในศาสตร์ที่ฝึกฝน ฝึกจิตฝึกสันดานให้เป็นคน เป็นชนในชาติที่ดีเอย ๚ะ๛

ด้วยระลึกถึงคุณย่า บันทึกจากความทรงจำ

บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อบันทึกความทรงจำของผมที่มีต่อคุณย่าที่ล่วงลับไปแล้วอย่างไม่มีวันหวนคืน คุณย่าเปรียบเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ร้อยครอบครัวใหญ่ของเราเอาไว้ไม่ให้แตกแยก หลังจากที่เสียคุณปู่ไปเมื่อ 23 ปีก่อน เนื่องจากบริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก แต่มักจะเป็นชาวจีนที่อพยพมาไทยนานแล้ว จากการการสังเกตของผม ชาวจีนแถบนี้โดยมากน่าจะเป็นชาว เปอรานากัน หรือชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมลายูหรืออินโดนีเซีย แล้วหลังจากนั้นจึงอพยพมาอาศัยต่อที่ประเทศไทย จากการบอกเล่าของคุณแม่ ก๋งเคยเล่าให้ฟังว่าตอนยังเด็กเคยแจวเรือจ้างอยู่ที่ปีนัง คุณย่าเคยเล่าว่าเป็นชาวฮกเกี้ยน อีกทั้วจากรูปวาดคุณย่าทวดที่มีการเกล้ามวยผม สวมเสื้อคอลึก ส่วนทางบ้านมีการใช้คำเรียกจีนผสมไทยถิ่นใต้อยู่มาก ผู้หญิงทุกคนนิยมสวมผ้าปาเต๊ะ เสื้อลูกไม้ (เสื้อฉลุลายดอกไม้) อาหารการกินเป็นแบบชาวไทยถิ่นใต้ทุกประการ (กินน้ำพริก แกงส้มเก่งกันทุกคน ยกเว้นก๋ง :D) อีกทั้งก๋งเกิดที่ดินแดนแถบนี้ไม่ได้เดินทางมาจากเมืองจีน (บางทีเรียก เตี่ยต่อเตี่ย คือ ทวดมาจากจีน ส่วนสถานที่เกิดไม่แน่ใจว่าเป็นปีนังหรือไทย)...